EN

ด้านเศรษฐกิจ

การดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ (Economic)

เด็มโก้มุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน ตระหนักถึงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล พร้อมปรับตัวให้มีความยืดหยุ่น (Reselience) รับมือด้วยความคล่องตัว (Agility) และรวดเร็ว (Speed) ทั้งยังมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสควบคู่กับการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) อีกด้วย

ในปีนี้ เด็มโก้ได้มีการทบทวนและปรับปรุงกลยุทธ์องค์กร เพื่อสร้างผลการดำเนินงานและการเติบโตที่ยั่งยืน มีการเตรียมความพร้อมรับความเสี่ยงใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น (Emerging Risks) อีกทั้งมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อรองรับและบริหารจัดการประเด็นต่าง ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างโอกาสทางธุรกิจพร้อมรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก (Global Trends) ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจภายใต้การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (E) มีความรับผิดชอบต่อสังคม (S) และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล (G) ส่งผลให้เด็มโก้ สามารถบรรลุเป้าหมายและสร้างความไว้วางใจจากหน่วยงานต่าง ๆ

การกำกับดูแลกิจการ

กลุ่มบริษัทเด็มโก้ให้ความสำคัญและปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี สำหรับบริษัทจดทะเบียนปี 2560 หรือ Corporate Governance Code for Listed Companies 2017 (CG Code) โดยเด็มโก้มุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรม สุจริต โปร่งใส ยึดแนวปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามแนวทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด สำหรับคณะกรรมการทุกคนในการปฏิบัติหน้าที่ได้ยึดถือการปฏิบัติตาม Fiduciary Duty สำคัญ 4 ประการ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ลงทุน และผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืนขององค์กร ด้วยปณิธานอันมั่นคงแน่วแน่ของเด็มโก้ ที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดการบริหารองค์กรโดยยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี และเป็นองค์กรหนึ่งที่มีความเป็นเลิศทางด้านบรรษัทภิบาล จึงได้เผยแพร่นโยบายธรรมาภิบาลของเด็มโก้ไว้บนระบบเครือข่าย DEMCO Intranet และบนเว็บไซต์ของเด็มโก้ www.demco.co.th เพื่อให้พนักงานและลูกจ้างของเด็มโก้ ทุกคนได้มีความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำนโยบายธรรมาภิบาลของเด็มโก้ ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานให้เกิดเป็นรูปธรรม และส่งเสริมให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงการปฏิบัติงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเอง โดยสื่อสารผ่านช่องทางที่หลากหลาย อาทิ การอบรมพนักงานใหม่, เว็บไซต์ของบริษัท, Intranet, และอีเมล์เวียนแจ้งให้พนักงานรับทราบทุกครั้งเมื่อมีการทบทวนนโยบายให้เป็นปัจจุบัน

การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน

เด็มโก้ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรม โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจรรยาบรรณทางธุรกิจ ตลอดจนนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีต่อผู้ถือหุ้น ผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ ของกลุ่มธุรกิจเด็มโก้ และในปี 2558 เด็มโก้ได้ลงนามเข้าร่วมเป็น “สมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย” เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันและสินบนในทุกรูปแบบ เพื่อให้มั่นใจว่าเด็มโก้มีนโยบายกำหนดความรับผิดชอบ แนวปฏิบัติ และข้อกำหนดในการดำเนินการที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันและสินบนกับทุกกิจกรรมทางธุรกิจของกลุ่มธุรกิจเด็มโก้ โดยคณะกรรมการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (“CAC”) มีมติให้การรับรองบริษัทเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption : CAC) ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2559 จนถึงปัจจุบัน

เด็มโก้มุ่งมั่นที่จะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันและสินบน เพื่อนำไปสู่การเป็นองค์กรโปร่งใสอย่างแท้จริง โดยดำเนินธุรกิจภายใต้ปรัชญากลุ่มธุรกิจเด็มโก้ คือ “iDEMCO” ซึ่งเป็นค่านิยมหลัก (Core Value) ที่กลุ่มธุรกิจเด็มโก้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลกิจการภายใต้กรอบการบริหารจัดการของการมีจริยธรรมที่ดี มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ โดยเฉพาะกระบวนการที่เกี่ยวข้องหรือสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตภายในองค์กร รวมถึงการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม คณะกรรมการบริษัทจึงให้มีการจัดทำนโยบายและแนวปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันขึ้น โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีและจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทเด็มโก้ มีการปฏิบัติที่สอดคล้องกับนโยบายที่กำหนดไว้ ตลอดจนเพื่อให้บุคลากรทุกระดับของกลุ่มบริษัทเด็มโก้ยึดถือเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงาน และสนับสนุนให้มีการรายงานกรณีพบความขัดแย้งทางผลประโยชน์ ซึ่งเด็มโก้จัดให้มีการสื่อสารนโยบายการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันและแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันนี้ โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น วารสารของเด็มโก้ อินทราเน็ตของกลุ่มบริษัทเด็มโก้ รายงานประจำปีและเว็บไซต์ของเด็มโก้ ที่ www.demco.co.th/การกำกับดูแลกิจการที่ดี/นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ทั้งนี้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนได้รับทราบนโยบายการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน โดยผู้บริหารและพนักงานทุกคนลงนามรับทราบจรรยาบรรณธุรกิจ สำหรับพนักงานใหม่ บริษัทจะสื่อสารหลักจรรยาบรรณธุรกิจผ่านการปฐมนิเทศ

เด็มโก้ ในฐานะภาคีสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านคอร์รัปชัน จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “รวมพลังอาสาสู้โกง” เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการร่วมต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ รวมทั้งสื่อสารเรื่อง No Gift Policy ให้กับผู้เกี่ยวข้องทราบ

ในปี 2564 เด็มโก้มีการจัดอบรมการบรรยายพิเศษ หัวข้อ "การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันและเสริมสร้างจริยธรรมในองค์กร"

โดย นายสุวิชญ โรจนวานิช ประธานกรรมการจริยธรรมประจำสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ผ่านระบบ Microsoft Team ให้แก่พนักงาน และลูกจ้างของเด็มโก้ เมื่อวันอังคารที่ 7 กันยายน 2564 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน)

เด็มโก้ได้กำหนดช่องทางการแจ้งเหตุหรือเบาะแสและข้อร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนี้

01
คณะกรรมการตรวจสอบ
E-mail address : Auditcom@demco.co.th
02
คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน
Email address : goodgovernance@demco.co.th
03
เลขานุการบริษัท
Email address : Com_Secretary@demco.co.th
04
เลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ
Email address : Ac_Secretary@demco.co.th
05
เลขานุการคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการและความยั่งยืน
Email address : Gov_Secretary@demco.co.th
06
ตู้รับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ติดตั้ง ณ สำนักงานใหญ่

ส่งจดหมาย หรือช่องทางอื่นตามสมควรและปลอดภัย

ถึงสำนักงานตรวจสอบ บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ เลขที่ 59 หมู่ 1 ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี รหัสไปรษณีย์ 12000

หรือผ่านช่องทางร้องเรียน Whistleblowing Channel Form

และกรณีที่พบประเด็นที่ต้องรายงานอย่างเร่งด่วน ให้รีบรายงานตรงต่อเลขานุการบริษัท หรือเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบ

เด็มโก้มีมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน โดยจะเก็บข้อมูลและตัวตนของผู้แจ้งเบาะแส หรือผู้ร้องเรียน และผู้ถูกร้องเรียนเป็นความลับ จะเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความเสียหายของผู้รายงาน แหล่งที่มาของข้อมูลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ได้รับความเสียหาย จะได้รับการบรรเทาความเสียหายด้วยกระบวนการที่เหมาะสมและเป็นธรรม

การบริหารจัดการความเสี่ยง

เด็มโก้ให้ความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงองค์กร (Corporate Risk Management : CRM) โดยได้พัฒนาแนวทางการบริหารความเสี่ยงของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทในเครือ อย่างต่อเนื่องให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนเพื่อลดโอกาสของการเกิดความเสี่ยงและลดผลกระทบกรณีที่เกิดความเสี่ยง สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืนเป็นไปตามมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์องค์กรและการปรับสร้างองค์กรใหม่ โดยปัจจุบันระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงครอบคลุมทุกธุรกิจของเด็มโก้ อีกทั้งหน่วยธุรกิจได้เริ่มนำตัวชี้วัดด้านความเสี่ยงเข้ามาใช้ (Key Risk Indicators: KPI) และรายงานผลให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงทุกไตรมาส ทั้งนี้เด็มโก้ มุ่งมั่นให้มีการพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง กระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงนั้น จะครอบคลุมผลกระทบ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านการดำเนินงาน ด้านนโยบาย / กฎหมาย / ระเบียบ / ข้อบังคับ ด้านลูกค้า / คู่ค้า / พันธมิตรธุรกิจ และด้านความพึงพอใจโดยประเมินความเสี่ยงทั้งระดับของโอกาสเกิด (Likelihood) และระดับของผลกระทบ (Impact) ทั้งเชิงปริมาณ (Quantitative) และเชิงคุณภาพ (Qualitative) ซึ่งจะแสดงผลการประเมินระดับความเสี่ยงบน Risk Matrix เพื่อให้ทราบถึงความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับการดำเนินธุรกิจของเด็มโก้ และสามารถกำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบ (Mitigation Plan) และแผนรองรับต่อเหตุการณ์ในสภาวะวิกฤตที่เหมาะสมต่อไป แนวทางการบริหารจัดการธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เน้นการให้ความสำคัญกับการฟื้นคืนกระบวนการหลักที่จำเป็นที่ส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียในกรณีเกิดภาวะวิกฤติภายในเวลาที่ยอมรับได้ ส่วนกระบวนการสนับสนุนอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน จะได้รับการฟื้นคืนในลำดับถัดไป

การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน

เด็มโก้ ให้ความสำคัญในด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นสำคัญในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้เด็มโก้ สามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับคู่ค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขยายความสามารถในการแข่งขันและลดความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อการดำเนินธุรกิจด้านต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากการดำเนินงานของคู่ค้า นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน เด็มโก้ จึงมีแนวทางในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกคู่ค้า การควบคุมคุณภาพของวัตถุดิบสินค้าและบริการของคู่ค้าจนถึงกระบวนการประเมินผลการดำเนินงานประจำปี ตลอดจนการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ เด็มโก้ ที่จะดำเนินธุรกิจร่วมกับคู่ค้าด้วยความโปร่งใส รวมถึงการคัดเลือกคู่ค้าเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นคู่ค้าผู้มีประสิทธิภาพ และให้ได้มาซึ่งคู่ค้าที่เด็มโก้ สามารถมั่นใจว่าจะส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการตรงกับความต้องการของเด็มโก้ โดยพิจารณาจากกลุ่มสินค้าและคู่ค้าที่มีมูลค่าสูง ระดับความเสี่ยงและผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท โดยเด็มโก้ ได้จัดทำแบบฟอร์มการประเมินความยั่งยืนคู่ค้ารายใหม่เพื่อให้ได้คู่ค้าที่มีคุณสมบัติตรงตามต้องการ และเมื่อผ่านการอนุมัติการคัดเลือกคู่ค้าแล้ว เจ้าหน้าที่จัดซื้อภายในบริษัท จะดำเนินการบันทึกคู่ค้าเข้าทะเบียนคู่ค้าที่ผ่านการอนุมัติ (Approval Vender List : AVL) ในระบบ ผลการดำเนินการเด็มโก้ สามารถจำแนกระดับความสัมพันธ์คู่ค้าเป็น 2 ระดับได้แก่

  1. คู่ค้าหลัก (Critical Supplier) คู่ค้าที่มียอดการใช้จ่ายสูง สินค้าทดแทนยากและอยู่ในกลุ่มสินค้าหลักที่สำคัญ และมีความเสี่ยงสูงมากหรือความเสี่ยงสูง โดยบริษัทกำหนดให้คู่ค้ากลุ่มนี้มีการประเมินผลการทำงานทุกปีผ่านแบบประเมินคู่ค้าและเยี่ยมชมพื้นที่การปฎิบัติงานโดยผ่านขั้นตอนการตรวจสอบด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมและการประเมินการตรวจสอบด้านการปฎิบัติอย่างยั่งยืน
  2. คู่ค้ารอง (Non-Critical Supplier) คู่ค้าที่ยอดการใช้จ่ายปานกลางหรือต่ำและความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลางหรือความเสี่ยงต่ำ ซึ่งบริษัทกำหนดให้มีการประเมินผลการทำงานเป็นประจำทุกปีผ่านแบบประเมินตนเองของคู่ค้าตามแนวทางการปฎิบัติอย่างยั่งยืนของคู่ค้า

เด็มโก้ มุ่งหวังให้คู่ค้าทุกรายดำเนินการสอดคล้องกับคู่มือสำหรับการดำเนินงานภายใต้แนวทางการปฏิบัติของคู่ค้าของกลุ่มธุรกิจเด็มโก้ (Supplier Code of Conduct and Guideline) อย่างเคร่งครัด

การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า

เด็มโก้ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจร่วมกับลูกค้าเป็นอย่างสูง โดยจัดให้มีการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า เป็นประจำทุกปี เพื่อยกระดับความผูกพันและความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างสม่ำเสมอและเป็นแนวทางในการแก้ไขข้อร้องเรียนจากลูกค้าอย่างถูกต้องและรวดเร็ว โดยมีการนำเสนอผลการสำรวจต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการวางแผน บริหารจัดการ พัฒนา ปรับปรุงคุณภาพ การส่งมอบและบริการ ตลอดจนถ่ายทอดข้อมูล และการดำเนินการตอบสนองต่อผลตอบรับของลูกค้าต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ทำการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า โดยแบ่งการสำรวจเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ภายหลังการประมูลงาน (หลังจากทราบผลการประมูลอย่างเป็นทางการแล้วภายใน 15 วันทำการ)

ระยะที่ 1 ระหว่างดำเนินโครงการ (ความก้าวหน้าของงานประมาณ 50%)

ระยะที่ 1 ปิดจบโครงการ (หลังจากวางบิลงวดสุดท้ายแล้ว ภายใน 15 วันทำการ)

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และผลการสำรวจนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงระดับความสามารถในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ ความต้องการของลูกค้าผ่านการดำเนินงานของเด็มโก้ พร้อมกันนี้ผลของการสำรวจความพึงพอใจและข้อเสนอแนะจากลูกค้าจะถูกพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการบริหาร โดยรวมถึงประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขจากผลการสำรวจ ความพึงพอใจของลูกค้าในแต่ละครั้ง เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการวางแผนงาน พัฒนา ปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์และยกระดับมาตรฐาน การบริการสู่ความเป็นเลิศในระดับสากล โดยผลการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าในปี 2564 พบว่าได้คะแนน ร้อยละ 90.98 ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้คือไม่ตํ่ากว่า ร้อยละ 85 เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการลูกค้าสัมพันธ์สามารถตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าเป็นอย่างดี