ภาวะอุตสาหกรรม
ภาวะอุตสาหกรรมและการแข่งขัน
เศรษฐกิจไทย ปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565
เศรษฐกิจไทยปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญประกอบด้วย
- การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ แม้จะเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด - 19) สายพันธุ์โอมิครอน แต่มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขอย่างจำกัดในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 และส่งผลให้ภาครัฐสามารถ ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดได้ตามลำดับ
- การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเนื่องมาจากการผ่อนคลายมาตรการเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและ ปริมาณการค้าโลก
- การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้าตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก และ
- แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 4.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 - 2.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 1.5 ของ GDP อย่างไรก็ดี ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 ให้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดไว้อันเป็นผลจาก
- ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 จากการกลายพันธุ์ของไวรัส
- แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก
- เงื่อนไขด้านฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ
- ความยืดเยื้อของปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ
- ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกท่ามกลางแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อและปัญหาความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์
ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง
- ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19จากการกลายพันธุ์ของไวรัสที่ทำให้แพร่ระบาดได้รวดเร็วมากขึ้นซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อ และมีความจำเป็นที่ประเทศต่าง ๆ ต้องกระจายวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster doses)เพิ่มเติมเพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตจึงถือเป็นข้อจำกัดในหลายประเทศที่ไม่มีความพร้อม เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ยังจำเป็นต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภายหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติควบคู่ไปกับการติดตามความพร้อมของการกระจายวัคซีนยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้มีความเพียงพอต่อการรับมือกับการแพร่ระบาดในปัจจุบันโดยเฉพาะความสามารถในการควบคุมอัตราการป่วยที่มีอาการรุนแรงและการเสียชีวิตให้อยู่ในระดับต่ำและไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุขที่จะรองรับได้ รวมทั้งการติดตามแนวโน้มและความเป็นไปได้ของการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
- แรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นตามปัจจัยทางด้านอุปทานที่ส่งผลให้ราคาสินค้าในหมวดพลังงานและราคาอาหารสดบางประเภทปรับตัวสูงขึ้นประกอบกับปัจจัยการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และภาวะการหยุดนิ่งในห่วงโซ่การผลิตโลกที่ได้ส่งผลต่อแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตมากขึ้นทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งใน เชิงภูมิรัฐศาสตร์ที่จะส่งผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลกและความยืดเยื้อกว่าที่คาดของปัญหาภาวะการหยุดนิ่งของห่วงโซ่การผลิตที่จะเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและจะเป็นข้อจำกัดต่อ การฟื้นตัวของการบริโภคในระยะต่อไป
- เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจจากการเพิ่มขึ้นของภาระหนี้สิน ท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวสะท้อนจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่สามของปี 2564 อยู่ที่ร้อยละ 89.3 เทียบกับร้อยละ 78.8 ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงการระบาด ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non - Performing Loans : NPLs) และสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงพิเศษ (Special Mention Loans : SMLs) ต่อสินเชื่อรวมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในไตรมาสที่สามของปี 2564 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 7.3 และร้อยละ 12.1 เทียบกับร้อยละ 4.8 และร้อยละ 3.2 ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ตามลำดับ ภาระหนี้สินภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในระยะต่อไป ประกอบกับตลาดแรงงานยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาด สะท้อนจากอัตราการว่างงานในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 แม้จะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.6 เทียบกับร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังสูงกว่าร้อยละ 1.0 ในช่วงเดียวกันของปี 2562 นอกจากนี้ พบว่าการว่างงานยังสูงในสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว ได้แก่ กิจกรรมโรงแรม และการบริการด้านอาหาร และภาคการก่อสร้าง ขณะเดียวกันจำนวนผู้ทำงานอยู่ในระดับต่ำและผู้เสมือนว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง
- แรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของภาคการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาข้อจำกัดในห่วงโซ่การผลิตและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเป็นปัญหาต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ดังนี้
- ปัญหาภาวะการหยุดนิ่งของห่วงโซ่การผลิตโลก เนื่องจากการบริหารจัดการตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งผลต่อต้นทุนค่าขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งหากยังคงมีความยืดเยื้อไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2565 จะเป็นข้อจำกัดสำคัญต่อห่วงโซ่การผลิตทั่วโลกและการฟื้นตัวของภาคการส่งออกของไทย รวมทั้งเป็นความเสี่ยงที่จะสร้างแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตในระยะต่อไป และ
- การขาดแคลนแรงงานต่างด้าว พบว่าการนำเข้าแรงงานต่างชาติยังเป็นไปอย่างล่าช้า โดยข้อมูลสถานการณ์การจ้างแรงงานต่างด้าวของสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานในเดือนธันวาคม 2564 ระบุว่ามีแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานทั่วประเทศอย่างถูกกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 2,350,677 คน เทียบกับ 2,512,328 คน และ 3,005,376 คนในเดือนเดียวกันของปี 2563 และ 2562 ตามลำดับ ภาวะการไม่เพียงพอของตลาดแรงงานดังกล่าวจะเป็นข้อจำกัดสำคัญของการฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคบริการ
- ความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลกที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย
- ความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ที่การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วและอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีในปัจจุบัน
- การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศเศรษฐกิจหลักเพิ่มสูงเกินกว่ากรอบเป้าหมายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง อาทิ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศสำคัญ ๆ มีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ในขณะที่การฟื้นตัวที่ล่าช้าของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และกลุ่มประเทศรายได้น้อย ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศรายได้น้อยที่มีสัดส่วนของหนี้ต่างประเทศสูงจนอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจได้
- ความผันผวนในตลาดการเงินโลกและเงินลงทุนระหว่างประเทศ เนื่องจากความเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ที่จะส่งผลต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเคลื่อนย้ายเงินทุน รวมทั้งการปฏิรูปการกำกับดูแลธุรกิจของรัฐบาลจีนและการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในจีนที่อาจทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวกว่าที่คาดและส่งผลต่อความผันผวนของราคาสินทรัพย์
- ทิศทางการดำเนินนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลักโดยเฉพาะนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ จีน รวมถึงจุดยืนของสหรัฐฯ จีน และไต้หวันในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans - Pacific Partnership : CPTPP)
- ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนและชาติพันธมิตรรวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯและระหว่างกบฏในเยเมนและ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจสร้างความผันผวนให้กับเศรษฐกิจโลกและระดับราคาพลังงาน
ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
เศรษฐกิจไทยในปี 2565 มีแนวโน้มการขยายตัวจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า และแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในปี 2565 ควรให้ความสำคัญกับ
- การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเร่งกระจายวัคซีนให้เพียงพอและครอบคลุมทั่วถึง (2) การดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามระดับพื้นที่สถานการณ์ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มความเข้มข้นในการควบคุม และกำกับติดตามอย่างเคร่งครัดตามมาตรการ COVID - Free Setting สำหรับองค์กรและหน่วยงาน และมาตรการ Universal Prevention สำหรับบุคคล (3) การดูแลควบคุมกิจกรรมเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคและการลักลอบเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายและ (4) การเตรียมความพร้อมของการระบาดระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปี

- การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสามารถกลับมาฟื้นตัวอย่างเต็มศักยภาพ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคธุรกิจขนาดย่อม ที่ยังประสบปัญหาสภาพคล่องและภาระหนี้สิน โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเร่งรัดติดตามมาตรการต่าง ๆ ทั้งด้านการเงิน การคลังที่ได้ดำเนินการไปแล้วให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณามาตรการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมโดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึง และสาขาเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว ได้แก่ การปรับเงื่อนไขในมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ การเร่งรัดให้สถาบันการเงินช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้รวดเร็วมากขึ้น และการพิจารณาวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้ในระยะต่อไป (2) การเร่งรัดแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติม โดยเฉพาะแรงงานในสาขาที่ได้รับผลกระทบซึ่งอาจต้องเปลี่ยนสายงานสายอาชีพใหม่รวมทั้งแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นเพื่อลดปัญหาการเลิกจ้างในระยะต่อไป (3) การเร่งรัดปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจ และ (4) การประชาสัมพันธ์มาตรการของภาครัฐให้ประชาชนและธุรกิจมีความเข้าใจและสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ
- การรักษาแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยให้ความสำคัญกับ (1) การติดตามและประเมินผลมาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและอยู่ระหว่างดำเนินการ ควบคู่ไปกับการปรับมาตรการและดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป (2) การดูแลกลไกตลาดเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่อต้นทุนการผลิตและภาระค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และ (3) การพิจารณาการใช้จ่ายภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และ 2566 โดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับโครงการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างงานสร้างอาชีพในระดับชุมชน เพื่อสนับสนุนให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบและย้ายกลับภูมิลำเนามีโอกาสในการประกอบอาชีพและมีงานทำในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในระยะแรกของการฟื้นตัว
- การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน เพื่อลดข้อจำกัดการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยให้ความสำคัญกับมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขด้านรายได้และสภาพปัญหาของลูกหนี้แต่ละราย / กลุ่ม เป็นสำคัญ ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการจูงใจในการรวมหนี้ และบรรเทาภาระหนี้สินที่สำคัญ ได้แก่ หนี้สินด้านการศึกษาการเช่าซื้อ และหนี้สินที่เกิดจากการบริโภค
- การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า ให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการรักษาระดับการจ้างงานในภาคการผลิต โดยให้ความสำคัญกับ
- การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนควบคู่ไปกับการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ และการสนับสนุนการค้าชายแดน
- การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำเข้า
- การแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการเรื่องการขนถ่ายสินค้าระหว่างท่าเรือกับจุดรับส่งสินค้าเพื่อลดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งให้แก่ผู้ประกอบการ
- การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา และเตรียมศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ ๆ รวมทั้งการเร่งรัดกระบวนการพิจารณาในการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ และ
- การปกป้องความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต
- การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญ
- การเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2562 - 2564 ให้เกิดการลงทุนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย
- การแก้ไขปัญหาที่นักลงทุนและผู้ประกอบการต่างชาติเห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจรวมทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต
- การดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น
- การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงขับเคลื่อนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละภูมิภาค
- การขับเคลื่อนการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ๆ ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และ
- การพัฒนากำลังแรงงานทักษะสูงเพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้มข้นโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่
- การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ ประกอบด้วย
- การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 93.4 ของกรอบงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของงบประมาณทั้งหมด รวมทั้งการเบิกจ่ายโครงการตามพระราชกำหนดฯ เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาทในส่วนที่เหลือ
- การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐทั้งในด้านการลงทุนพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งให้เป็นไปตามแผนงาน โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการในโครงการที่สำคัญ ๆ ที่ได้มีการอนุมัติให้ดำเนินการแล้ว อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โครงการรถไฟชานเมือง โครงการลงทุนสำคัญด้านพลังงาน เป็นต้น และ
- การเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) โดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่าย เพื่อให้ฐานะการคลังอยู่ในระดับที่เพียงพอในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายใต้ความไม่แน่นอนและความผันผวนในระยะต่อไป
- การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินโลก ควบคู่ไปกับการรักษาบรรยากาศทางการเมืองเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
- การขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการกระจายรายได้ และปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
สรุปสถานการณ์พลังงานปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
สถานการณ์พลังงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า การใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้น 0.01% จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน / ลิกไนต์ ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจในช่วงต้นปี ในขณะที่การใช้น้ำมันลดลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ซึ่งภาครัฐมีการประกาศใช้มาตรการต่าง ๆ อาทิ การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด และการประกาศเคอร์ฟิว เป็นต้น
สถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สรุปได้ ดังนี้

- การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ลดลง 8.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระบาดระลอก 3 ในเดือนเมษายนต่อเนื่องมาจนถึงเดือนกันยายน 2564 โดยการใช้น้ำมันดีเซลลดลง 6.5% การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล ลดลง 9.2% และการใช้น้ำมันเครื่องบิน ลดลง 44.9% ขณะที่การใช้น้ำมันเตา เพิ่มขึ้น 13.7% โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ในภาคขนส่ง
- การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน เพิ่มขึ้น 8.1% โดยการใช้เพิ่มขึ้นจากฐานการใช้ที่ต่ำมากกว่าปกติในปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19โดยการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีการใช้เพิ่มขึ้น 24.3% สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม มีการใช้เพิ่มขึ้น 11.9% ตามการขยายตัวของการส่งออก และภาคครัวเรือน มีการใช้เพิ่มขึ้น 1.4% ขณะที่ภาคขนส่ง มีการใช้ลดลง 16.9% จากข้อจำกัดในการเดินทางในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 และการใช้เอง มีการใช้ลดลง 36.8%
- การใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 1.1% โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจยกเว้นการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ทั้งนี้การใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 0.2% ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัว การใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมและการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้น 7.7% และ 1.6% ตามลำดับ ตามการส่งออก ที่ขยายตัวได้ดี ขณะที่การใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) ลดลง 19.7% จากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรค โควิด -19 เป็นข้อจำกัดทำให้การใช้ NGV ในการเดินทางลดลง
- ด้านการใช้ไฟฟ้า ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า (System Peak) ของปี 2564 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 เวลา 14.49 น. อยู่ที่ระดับ 31,023 เมกกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการใช้ไฟฟ้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 อยู่ที่ 143,663 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 1.0% ซึ่งการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ 45% อยู่ในสาขาอุตสาหกรรม การใช้เพิ่มขึ้น 5.5% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การผลิตสินค้าเพื่อส่งออกขยายตัวได้ดี ส่วนการใช้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 0.7% จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ส่งผลให้ยังคงมีมาตรการ Work From Home และการจำกัดการเดินทาง ขณะที่การใช้ไฟฟ้าในสาขาธุรกิจลดลง 7.0% จากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน อาทิ ธุรกิจโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และภัตตาคาร เป็นต้น
ทั้งนี้ แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2565
- ธุรกิจผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการใช้ที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 3.6% ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงนโยบายสนับสนุนการลงทุนภาครัฐตามแผน PDP เอื้อให้เกิดการขยายกำลังการผลิตและการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่
- โรงกลั่นน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มทรงตัวใกล้เคียงปี 2564 ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยมีแนวโน้มปรับขึ้นโดยคาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเพิ่มขึ้นที่ระดับเฉลี่ย 36.3 บาท / ลิตรในปี 2565 ก่อนลดลงสู่ระดับเฉลี่ย 35.1 และ 34.3 บาท / ลิตรในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ นอกจากนี้ผลประกอบการของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
- ความต้องการใช้เอทานอลมีแนวโน้มอยู่ที่ระดับ 4.2 - 4.6 ล้านลิตร / วัน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.5% ต่อปี ในทิศทางเดียวกับการเติบโตของการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 (95) และ E20 (ที่คาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 25 - 30% ของปริมาณการใช้แก๊สโซฮอล์ทั้งหมด) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) แผนส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานในปี 2566 (2) การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง (Gasoline) จะขยายตัวต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะทยอยปรับดีขึ้น (3) จำนวนรถยนต์สะสมที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5 - 2.5% ต่อปี
- อุตสาหกรรมไบโอดีเซลช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าความต้องการใช้จะอยู่ที่ 5.3 - 5.5 ล้านลิตร / วัน หรือเติบโตเฉลี่ย 4.0 - 6.0 % ต่อปี
อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
การลงทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานจากขยะ ใน 4 เดือนแรกปีนี้ ความต้องการไฟฟ้าจากภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 1.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการฟื้นตัวในหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและการประกอบรถยนต์ อุตสาหกรรมก๊าซ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน อาหารและเครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง และบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ความต้องการจากภาคธุรกิจและผู้ใช้ในครัวเรือนหดตัวตาม 9.7% และ 3.4% ตามลำดับเมื่อเทียบรายปี ในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้น โดยได้แรงหนุนหลักจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากการขยายตัวของการส่งออกสำหรับทั้งปีคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 2.8%
ในปี 2565 และ 2566 ภาวะธุรกิจจะดีขึ้นสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า จากความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.7% ต่อปี และการสนับสนุนจากรัฐบาลในการลงทุนในอุตสาหกรรมตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาไฟฟ้าและการพัฒนาพลังงานทดแทน คาดว่าการลงทุนจะเร่งตัวขึ้นในการติดตั้งโซลาร์รูฟในประเทศ พลังงานชีวมวล (ผู้ผลิตระดับชุมชนและการริเริ่มของชุมชนภาครัฐและเอกชนในภาคใต้) ผู้ผลิตก๊าซชีวภาพ (สำหรับการผลิตระดับชุมชน) และโครงการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน
การแข่งขันในภาคธุรกิจได้ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน ผู้ประกอบการเดิมได้ขยายกำลังการผลิตและมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา อีกทั้งผู้เล่นที่มีจุดแข็งด้านการเงินและเทคโนโลยี เช่น ผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) และ ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่มีพื้นฐานด้านวิศวกรรม การจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้าง (EPC) มีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญสำคัญในการติดตั้งระบบไฟฟ้า หรือบางส่วนเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ ผู้ประกอบการเหล่านี้ได้เริ่มส่งพลังงานหมุนเวียนสู่โครงข่ายไฟฟ้าเพื่อรักษาอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้เล่นรายใหญ่วางแผนที่จะขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ